; ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid)

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid)

        เกิดจากการโป่งพองผิดปกติของหลอดเลือดดำรอบ ๆ ทวารหนัก จากการเพิ่มแรงดันหรือแรงเบ่งในช่องท้องที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นระยะเวลานาน

ชนิดของริดสีดวงทวาร

        1. ริดสีดวงทวารที่เกิดภายใน เป็นการเกิดขึ้นภายในของลำไส้ส่วนปลาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด
        2. ริดสีดวงทวารที่เกิดภายนอก เป็นการเกิดของหัวริดสีดวงทวารที่มองเห็นได้ชัดเจน อาจจะมีหนึ่งหัวหรือหลาย ๆ หัว

อาการของโรคริดสีดวงทวาร  แบ่งออกได้ 4 ระยะ

        ระยะที่ 1 : มีการโป่งพองของหลอดเลือดที่อยู่ในช่องทวารหนัก แต่ไม่โผล่หัวริดสีดวงทวารออกมา บางครั้งมีเลือดออกได้
        ระยะที่ 2 : มีหัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาในขณะที่มีการเบ่งหรือเบ่งถ่ายอุจจาระ และยุบเข้าไปได้เองเมื่อหยุดเบ่ง และอาจมีเลือดออก
        ระยะที่ 3 : มีการโผล่ของหัวริดสีดวงทวารขณะเบ่งหรือเบ่งถ่ายอุจจาระแล้วไม่ยุบกลับเข้าไปเอง ต้องใช้นิ้วดันจึงจะเข้าไป
        ระยะที่ 4 : หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมา บวมและแดง ไม่สามารถดันกลับได้ มีเลือดออก ปวดมาก

ภาวะแทรกซ้อน

        1. การตกเลือด ช็อก เกิดภาวะซีด
        2. เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดบริเวณรอบริดสีดวง
        3. การบีบรัดของริดสีดวง ก่อให้เกิดการอักเสบและปวดมาก


ปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารหนัก

        1. การเกิดท้องผูกเรื้อรัง
        2. การท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
        3. อุปนิสัยเบ่งอุจจาระเวลาขับถ่าย
        4. อุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน ๆ เช่น อ่านหนังสือขณะถ่ายอุจจาระ
        5. ชอบใช้ยาสวนอุจจาระหรือยาระบายพร่ำเพรื่อ
        6. ภาวะการตั้งครรภ์
        7. ภาวะของโรคตับแข็ง
        8. ภาวะสูงอายุ

การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

        1. การขับถ่ายอุจจาระที่ปกติ คือ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระ
        2. การใช้ยาเหน็บตามคำสั่งของแพทย์
        3. การใช้ยาฉีดตามการรักษาของแพทย์
        4. การใช้ยางรัดหัวริดสีดวงตามการรักษาของแพทย์
        5. การผ่าตัดหูรูดและการขยายหูรูดทวารหนัก

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดหัวริดสีดวงทวารเมื่อกลับไปอยู่บ้าน

        1. รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ๆ เช่น ผัก ผลไม้
        2. ดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 3 ลิตรต่อวัน
        3. ไม่เบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ
        4. ใช้ยาระบายตามแผนการรักษาของแพทย์
        5. นั่งแช่น้ำอุ่น เช้า-เย็น ครั้งละ 15-20 นาที เพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก
         6. ป้องกันการกดทับบริเวณก้นหรือทวารหนัก อาจใช้ที่รองรับน้ำหนัก อาจเป็นนวมหรือเบาะนั่ง
         7. ทำความสะอาดแผลผ่าตัดด้วยสบู่ทุกครั้ง หลังการขับถ่ายแล้วซับให้แห้ง
         8. มาพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร